000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > จ่าย 30 บาท?แล้วคุณจะร้อง พระเจ้าช่วย
วันที่ : 08/10/2016
19,354 views

จ่าย 30 บาท – แล้วคุณจะร้อง พระเจ้าช่วย !

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ปกติ 95% ของลำโพงในท้องตลาด ไม่ว่า 1 ตู้จะมีกี่ดอกลำโพง เกือบทั้งหมด (นอกจากลำโพงบางยี่ห้อ บางรุ่นที่เป็นรุ่นเรือธง ที่ราคาแพงมากๆ) อากาศที่เกิดจากการผลักดัน ขยับ ของกรวยลำโพง ด้านหลังกรวย จะอัดกันอยู่ภายในตู้เดียวกันนั่นเอง เสียงจากแต่ละดอกลำโพงก็จะตีรวนกันเองโดยผ่านแรงอัดอากาศหลังกรวยภายในตู้ (เหมือนการรั่วหากัน...CROSS TALK หรือ CT) โดยเฉพาะกรวยเสียงทุ้ม จะขยับเข้า-ออกเป็นช่วงกว้าง ส่งแรงอัดอากาศไปเขย่ากรวยดอกเสียงกลาง กรวยดอกแหลม (กรณีเป็นไดอาแฟรมแบบกรวย แต่ถ้าเป็นโดมที่ด้านหลังปิดอยู่ก็รอดตัวไป) ยิ่งดอกลำโพงที่ตูดแม่เหล็กมีรูระบายอากาศ เพื่อระบายความร้อนจากวอยซ์คอยล์ แรงอัดจากดอกอื่นในตู้ก็สามารถเล็ดลอดไปเขย่าวอยซ์คอยล์ผ่านรูนี้ได้เช่นกัน

                อาการส่งแรงดันอากาศหลังดอกไปป่วนกันและกัน เกิดขึ้นตลอดเวลาจากทุกๆ ดอก โชคดีที่ภายในตู้ลำโพงมักอัดด้วยวัสดุซับเสียงไม่มากก็น้อย ก็จะพอดูดซับแรงอัดอากาศนี้ได้บ้าง แต่ก็คงไม่หมดจด 100% การกวนก็ยังมีอยู่ ยิ่งลำโพงสมัยใหม่ ที่ราคาไม่แพงมาก มักใช้วัสดุซับเสียงน้อยพอควรทีเดียว ปัญหาจะยิ่งรุนแรงแน่ๆ

                ลำโพงตู้ปิด ปัญหา CT นี้จะยิ่งหนักหนา จึงน่าจะเป็นที่มาของเสียงบ่นว่า พวกลำโพงตู้ปิด ทำไมเสียงไม่ค่อยสด เปิดโปร่ง ทะลุ กลางออกขุ่น ทึบ จนต้องจูนแหลมจากดอกแหลมมาช่วย แต่ก็กลบเกลื่อนปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ฟังนานๆ ก็ยังรู้สึก ขาดความโปร่งทะลุ (TRANSPARENCY)

                ลำโพงแบบตู้เปิด มีรูระบายอากาศ ปัญหานี้ก็จะเบาบางลง คนที่ชอบฟังลำโพงตู้เปิด จะบอกว่า เสียงมัน “หลุดตู้” พุ่งออกมาได้ดีกว่าตู้ปิด ก็เพราะสาเหตุ CT นี่แหละ

                ในกรณีของลำโพงตู้ปิด เราคงไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยและปลงให้ตกว่า นั่นคือ บุคลิกของตู้ปิด

                แต่ในกรณีของตู้เปิด ทางออกที่เป็นไปได้คือ ควานหาตำแหน่งที่จะเจาะรูว่าควรเจาะตรงไหน ตัวท่อที่ไปออกรูภายนอก ควรมีขนาดเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ การทำปากท่อ ทั้งด้านในตู้ และด้านออกนอกตู้ ให้เป็นปากแตร แทนที่จะแค่เอาท่อกลมไปสวมติดกับรูกลมดื้อๆ

                การทำปากแตร (ต้องทดลองดูด้วยว่า ลักษณะปากแตรควรโค้ง บานอย่างไรดีที่สุด) จะช่วยให้การดูดอากาศภายในตู้เข้าสู่ท่อ เป็นไปรวดเร็วขึ้น หมดจดขึ้น (คือ มวลอากาศกระทบปากท่อแล้วมีบางส่วนตีวกกลับมาต่อต้านอากาศที่จะเข้าสู่ท่อ...ลดลง) คือคล่อง/เร็วขึ้น ทำนองเดียวกัน ที่ปากท่อออกนอกตู้ก็เช่นกัน มีผลแบบเดียวกัน ช่วยส่งอากาศออกนอกท่อ นอกตู้ได้ดีขึ้น แรงอัดอากาศจากหลังแต่ละดอกก็จะลดลง ปัญหา CT ก็ลดลง

                มีอีกวิธีที่จะช่วยเร่ง ดูดอากาศในท่อนี้คือ การเซาะร่องผิวภายในท่อให้มีรูปแบบที่ช่วยเร่ง ดูดอากาศ (เป็นเทคนิคทางพลศาสตร์ ทางการบิน AERO DYNAMIC)

                อีกวิธีคือ ทำให้ผิวท่อภายใน มีความลื่นที่สุด เช่น อาจเคลือบด้วย TEFLON, GLASS (แก้ว) ซึ่งคงต้องทำการทดสอบ ทดลองกันต่อไป

                วิธีแก้ที่หรูหรา ของบางผู้ผลิตลำโพงคือ แยกให้แต่ละดอก มีตู้ของมันเอง เป็นตู้ปิด โดยทำเป็นท่อกลมยาว ค่อยๆ แคบเข้าๆ ตีบปลาย (ปิดปลาย) โดยใช้หลักการให้เสียงหลังดอกนั้น เกิดการหักล้างกันเองภายในท่อ จนหมดไป (ภายในมีวัสดุซับเสียงช่วยด้วย เพื่อย่นระยะยาวท่อ) วิธีนี้ก็มีของ B&W รุ่น NAUTILUS, ของ VIVID AUDIO ตระกูล GIYA

                บางยี่ห้อก็ทำตู้ซ้อนภายใน (ตู้ปิด) ให้แก่ดอกเสียงกลาง ดอกแหลมเป็นโดมตูดปิดอยู่แล้ว และใส่วัสดุซับเสียงมากๆ ให้ตู้ดอกกลาง วิธีนี้จะตัดปัญหา CT ได้ค่อนข้างโอเค ต้นทุนสูงขึ้นพอควร แต่ยังไงๆ ก็ยังต่ำกว่าการทำท่อยาวดักดูดซับเสียง และอย่าลืมว่า การมีตู้ซ้อนภายใน ต้องคำนึงด้วยว่า มันจะมีผลต่อการสะท้อนไปมาของเสียงจากหลังดอกทุ้มอย่างไรด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซับซ้อนพอควรทีเดียว นอกจากตู้ทุ้มนั้น (เพราะดอกทุ้มเข้าครองปริมาตรตู้คนเดียว) จะอัดแน่นด้วยวัสดุซับเสียงจนใกล้จะเป็นตู้ปิดอยู่แล้ว (จากเดิมเป็นตู้เปิด)

                วิธีแก้ง่ายๆ อีกอย่างคือ แยกตู้ให้ดอกแหลม 1 ตู้ ดอกกลาง 1 ตู้ ดอกทุ้ม 1 ตู้ วางซ้อนลดหลั่นกันลงมา ดีเสียอีก ช่วยจูนความช้า-เร็วของแต่ละช่วงความถี่เสียงที่จะมาถึงหูเราได้ด้วย (ปรับ LINEAR PHASE) แต่ก็มีข้อเสียคือ พอแยกตู้ ดอกแหลม ดอกกลาง ดอกทุ้ม ก็จะถูกถ่างให้ห่างกันมากขึ้น ลดความเป็น POINT SOURCE ลงอย่างน่าเสียดาย (เสียงแต่ละช่วงความถี่ ไม่ได้ออกมาจากจุดเดียวกัน) ทรวดทรงเสียงจะแย่ลง (3D ลดลง) ความชัดลดลง การแยกแยะลดลงโดยเฉพาะช่วงโหมดนตรีหลายๆ ชิ้นจะมั่วมากขึ้น ความเป็นชิ้นเป็นอันของใครของมันลดลง เสียงโดยรวมเหมือนค่อยลง พลังลดลง

                มีอีกวิธีที่พวกเราพอจะไปลองทำเล่นได้ไม่ยากกับลำโพงตู้เปิด (มีท่อระบายอากาศ) อยู่แล้ว โดยหาวิธีทำให้ผิวภายในของท่อลื่นที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

                ง่ายที่สุดคือ หาน้ำมันหมูมาทาภายในท่อ แต่กลิ่นก็ไม่น่าภิรมย์ หรือจะเอาน้ำมันพืช พอดีปรึกษาเพื่อน เขาว่า มียาทาสำหรับหนุ่มนักเที่ยวที่เรียกว่า k-y ใสๆ ไม่แห้ง เช็ดออกได้ง่าย ราคาไม่แพง ให้ อจ. เอาไปลองดู ซื้อได้ตามร้านขายยา

                ผมก็กระมิดกระเมี้ยนไปถามหาที่ร้านขายยา เขาก็เอาหลอดเล็กให้ (คนละยี่ห้อ) ราคา 30 บาท ก็เลยเอามาทาภายในท่อลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 ของผม (3 ทาง ท่อหน้า 1 หลัง 1) ลำโพงนี้ใช้มาร่วม 10 ปีแล้ว ลองเอานิ้วถูภายในท่อลม โอ้ สากมาก ฝุ่นดำติดนิ้วมาเลย ผมก็เอานิ้วป้ายทายา ลึกเท่าที่นิ้วจะสอดเข้าไปได้ เผื่อเช็ดออกทีหลังจะได้ไม่ลำบาก ทาเสร็จก็ลองฟัง

                ผมขอไม่บอกว่าชุดเครื่องเสียงอ้างอิงของผม มีอะไรบ้าง เพราะไม่ใช่ประเด็น และบทความจะยาวเกินไปโดยไม่จำเป็น

                1. เสียงดังขึ้นประมาณ 1.5 – 2 dB โดยเฉพาะเสียงกลาง

                2. เสียงกลางหลุดลอยออกมามากขึ้น

                3. รายละเอียดเสียงกลางดีขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึง ทั้งหยุมหยิม เปิดโปร่งทะลุ การสอดใส่อารมณ์ของเสียงร้อง

                4. การแยกเสียงอ่อน-แก่ดีขึ้น (DYNAMIC CONTRAST ดีขึ้น)

                5. เวทีเสียงเกลี้ยงสะอาดขึ้น ม่านหมอกหายไป

                6. รายละเอียดค่อยๆ ต่างๆ ดีขึ้นทั้งวง ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน

                7. เสียงกลางกลมกลืนกับทุ้มต้นได้ดี ต่อเนื่องมากขึ้น

                8. เหมือน “ปริมาณ” ทุ้มลดลงหน่อย (แล้วแต่เพลง) จริงๆ เสียงก้องในตู้ลดลง (ลมระบายออกท่อได้ดีขึ้น เร็วขึ้น)

                9. ทุ้มกระจ่างชัด มีรายละเอียดดีขึ้น โฟกัส เป็นตัวตนขึ้น กระชับขึ้น จนอาจเข้าใจว่าน้ำหนักลดลง จริงๆ คือมันขุ่นและอู้ก้องลดลง

                10. เสียงตอบสนองฉับไวขึ้น อะไรที่ควรช้าก็จะช้า อะไรควรเร็วก็เร็ว แยกความแตกต่างจากกันได้ชัดเจนขึ้น

                11. ตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ในวงชัดเจน โฟกัสนิ่ง ขึ้นตื้น-ลึกดีขึ้น

                12. ขี้ฟ้องมากขึ้น ถ้าบันทึกมาเสียงแบน ไร้ทรวดทรง จนเราอาจเข้าใจผิดว่า ทรวดทรงแย่ลง ต้องลองฟังหลายๆ แผ่นให้มากที่สุด ก่อนนี้เราอาจฟังเสียงลวง เสียงเติมแต่งจากความกังวานของตู้อยู่ (การระบายอากาศได้ดีขึ้น ตู้จะสั่นลดลง ดอกตู้เขย่าสั่นลดลง เสียงชัดกระจ่างขึ้น)

                หลังจากฟังจนเคยชิน เรียนตรงๆ ว่า กลับไปฟังอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว เป็นการปรับปรุงคุณภาพลำโพงจากคู่ละ 2 หมื่นต้นๆ เป็นระดับแสนได้เลย ฟังนานๆ คุณจะติด

                เอามาฟังเสียงหนังก็ดีขึ้นมาก ขณะเดียวกัน ลำโพงมีความเป็นมอนิเตอร์มากขึ้น (มีจิตวิญญาณมากขึ้นด้วย)

                ข้อเสียคือ ทีนี้ละ มันจะฟ้องการจัดชุด ติดตั้งชุดที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น หรือคุณภาพสาย อุปกรณ์อื่นๆ คิดง่ายๆ แค่ผมเปลี่ยนจากเอาผ้าเช็ดหน้าพับๆ มาลองสายไฟไม่ให้แตะกัน ไม่ให้ถูกโต๊ะ (สั่น) มาเป็นสำลี เสียงก็ดีขึ้นอย่างน่าตกใจแล้ว พูดง่ายๆ ฟ้องทุกอย่างกันแล้ว อย่าได้กระดิกอะไรเลย แต่ก็สนุก มันส์ เพลิดเพลินมากๆ ครับ ไปลองดูกันนะครับ ไม่ลองจะเสียใจ!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459